Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Wikipedia

ผลการค้นหา

วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

การจำนอง คือ (What is a mortgage.)

การจำนอง คือ (What is a mortgage.)
สัญญาที่ผู้จำนองใช้ ทรัพย์สินของตนเองเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยนำไปจดทะเบียนตราไว้เป็นประกัน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้มีสิทธิบังคับเอาทรัพย์สินที่จำนองได้ ผู้จำนองอาจจะเป็นตัวลูกหนี้เองที่เอาทรัพย์สินมาจำนองเจ้าหนี้(ลูกหนี้ชั้น ต้น)หรือบุคคลอื่นอื่นเอาทรัพย์สินมาจำนองเจ้าหนี้ก็ได้ (บุคคลที่สาม)

ลักษณะของสัญญาจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคแรก บัญญัติว่า "อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคน หนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สิน นั้นให้แก่ผู้รับจำนอง"

วรรคสอง บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว หรือหาไม่"

ลักษณะของสัญญาจำนอง
1.ผู้จำนอง คือ
1.1 ตัวลูกหนี้เอง หรือ
1.2 บุคคลอื่นนำทรัพย์สินมาจำนองกับเจ้าหนี้

2. สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้จำนองต้องเอาเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน เป็นต้น ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินของผู้จำนองผูกพันหนี้ประธาน โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง ทั้งนี้ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้และหนี้จำนองที่เป็นประกันจะต้องเป็น หนี้ที่สมบูรณ์ด้วย

กฎหมายกำหนดแบบของสัญญาจำนองไว้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้า หน้าที่ (ตามมาตรา 714)นอกจากนี้จะต้องมีข้อความที่ระบุถึงทรัพย์สินที่จำนอง (ตามมาตรา 704)และวงเงินที่จำนองด้วย (ตามมาตรา 708) ถ้าสัญญาไม่มีข้อความตามที่กฎหมายบังคับ เจ้าหน้าที่จะไม่จดทะเบียนจำนองให้

การมอบโฉนดที่ดินหรือที่ดิน นส.3 ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้โดยไม่ได้ไปจดทะเบียนจำนอง ไม่ถือว่าเป็นการจำนอง

3.ทรัพย์สินที่จำนองได้ คือ
ตามมาตรา 703 วรรคแรก บัญญัติว่า "อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใดๆ"

วรรคสอง บัญญัติว่า "สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย คือ
(1)เรือ มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
(2)แพ
(3)สัตว์พาหนะ
(4)สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ"

อสังหาริมทรัพย์ที่จำนองได้ เช่น โฉนดที่ดิน,บ้าน,โรงเรือน,สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
สังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไปจำนองไม่ได้ เช่น รถยนต์,ทอง,นาฬิกา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์พิเศษ ตามมาตรา 703 วรรคสอง จึงจะจดทะเบียนจำนองได้...

เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย menmen